วันเสาร์ที่ 7 พฤศจิกายน พ.ศ. 2552

เคล็ดลับปลูกไม้ดอก

การปลูกไม้ดอกเป็นงานอดิเรกอย่างหนึ่งที่ช่วยสร้างความสงบเย็นให้ชีวิต จะเริ่มต้นอย่างไร? ธนาวุฒิ ณะคำ นักเกษตรฝ่ายไม้ดอก สถานีเกษตรหลวงอ่างขาง โครงการหลวง แนะนำไว้ในนิตยสาร "บ้านและสวน" ฉบับก.พ.

เริ่มจาก

การเลือกซื้อและเก็บรักษาเมล็ดไม้ดอก

ควรเลือกซื้อจากแหล่งที่เชื่อถือได้ บรรจุในซองป้องกันความชื้น ระบุวันเดือนปีที่ผลิตและหมดอายุ เปอร์เซ็นต์การงอก ชื่อผู้จำหน่าย

ส่วนการเก็บเมล็ดขยายพันธุ์เอง ควรเลือกเก็บเมล็ดแก่ นำมาตากแดดช่วงเช้า จากนั้นผึ่งในที่ร่มจนเมล็ดแห้ง ร่อนสิ่งสกปรกออก เก็บไว้ในที่แห้งและเย็น เปอร์เซ็นต์การงอกจะลดลงตามระยะเวลา

เพาะเมล็ด

ใช้วัสดุเพาะกล้าสำเร็จรูปหรือพีตมอสส์นำมาร่อนให้ละเอียด จากนั้นเพาะเมล็ดในตะกร้าโดยทำร่องนำไว้ก่อน โรยเมล็ดลงไปแล้วกลบ วิธีนี้เหมาะกับเมล็ดขนาดใหญ่ เช่น รักเร่ แพนซี ส่วนเมล็ดเล็ก เช่น บีโกเนีย พิทูเนีย ใช้วิธีหว่านเมล็ดบนผิวหน้าวัสดุ จากนั้นโรยวัสดุกลบบางๆ รดน้ำด้วยบัวรดน้ำแบบฝอย และปลูกในโรงเรือนที่มีหลังคากันน้ำฝน เพื่อป้องกันแรงกระแทกจากฝนหรือลม ซึ่งอาจทำให้เมล็ดเสียหายได้



การย้ายปลูก

เมื่อต้นกล้ามีใบจริงประมาณ 1 คู่ ให้ย้ายปลูกลงถาดหลุม ประมาณ 30-45 วัน จึงย้ายลงถุงดำหรือกระถาง ปลูกเลี้ยงต่ออีกประมาณ 45 วัน จึงย้ายปลูกลงแปลงต่อไป

สำหรับวัสดุปลูกไม้ดอก ใช้วัสดุเพาะกล้าผสมกับขุยมะพร้าวและทรายละเอียด หรือใช้ทราย ปุ๋ยหมัก แกลบหมักและใบสนหมักผสมคลุกเคล้ากันแทนการใช้ดินช่วยลดปัญหาการปนเปื้อน เชื้อโรคจากดินได้

ถ้าต้องการปลูกไม้ดอกที่บ้านอาจใช้วัสดุในท้อง ถิ่น เช่น ใบไม้หมัก ใบก้ามปูหมัก กาบมะพร้าวสับ ที่สำคัญคือควรมีคุณสมบัติระบายน้ำดีและอุ้มน้ำได้พอเหมาะ

การเตรียมแปลงปลูก

รื้อวัสดุปลูกเดิม เก็บเศษไม้และพืชต้นเก่าออกให้หมด ตากแดดประมาณ 1 สัปดาห์ ใส่โดโลไมท์หรือปูนขาวปรับสภาพดิน และใช้วัสดุปรับปรุงโครง สร้างดิน เช่น แกลบเก่าผสมลงไป ระยะปลูกที่เหมาะสม คือ 20-30 เซนติเมตร

การดูแล

รดน้ำวันละครั้ง หากปลูกในกระเช้าควรวันละ 2 ครั้ง การให้ปุ๋ยช่วงแรกๆ ให้ปุ๋ยเคมีเร่งต้น สูตร 30-20-10 เสริมธาตุอาหารรองเป็นครั้งคราว เมื่อเข้าสู่ช่วงออกดอกจึงให้ปุ๋ยสูตรเสมอ 14-14-14 หรือ 21-21-21 เพื่อยืดระยะเวลาออกดอกให้นานขึ้น ส่วนปุ๋ยละลายช้า นิยมใช้กับต้นไม้ที่ปลูกลงกระเช้า เช่น ฟุกเซีย (โคมญี่ปุ่น) โดยใส่รองก้นกระถาง และใช้สารสกัดกระเทียม สะเดา ป้องกันแมลงและศัตรูพืช

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น